มาตรฐานใหม่ วสท.011008-21 นำประโยชน์มากมายมาสู่วิศวกรไทย
มาตรฐานสำหรับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีกำลัง (มาตรฐาน วสท.1008-38) ฉบับเดิม ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ
(วสท.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานนี้เห็นควรให้มีการปรับปรุงใหม่เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของวิทยาการ โดยยึดแนว มาตรฐาน ACI 318-11 เป็นหลัก
การปรับปรุงครั้งนี้ยังคงแบ่งหมวดและบทตามเนื้อหาของมาตรฐานเดิมเป็นหลัก โดยมีการเปลี่ยนจาก “ภาค” เป็น “หมวด” และเปลี่ยนหัวข้อจากเลข 4 หลัก เช่น “1100” เป็น บทที่ 1 ตามหลักเกณฑ์ใน “แนวปฏิบัติสำหรับการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรม” ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เพื่อความเป็นสากล หน่วยและสมการจะเป็นระบบ SI –metric ส่วนหน่วยและสมการในระบบ Mks-metric ซึ่งเป็นหน่วยที่คุ้นเคยจะไปแสดงอยู่ในตารางเปรียบเทียบค่าและสมการของทั้งสองระบบในภาคผนวกท้ายเล่ม นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเนื้อหาจากมาตรฐาน วสท.1008-38 อีก 4 บท ได้แก่
บทที่ 4 ข้อกำหนดคุณสมบัติของคอนกรีตตลอดอายุการใช้งาน
บทที่ 19 ข้อกำหนดพิเศษสำหรับอาคารต้านแผ่นดินไหว
บทที่ 20 แบบจำลองแขนค้ำยันและแขนยึด
บทที่ 21 การฝังยึดในคอนกรีต
มาตรฐานฉบับปรับปรุงใหม่นี้ได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยวิศวกรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกณฑ์กำหนดเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างองค์อาคารต้านแผ่นดินไหวในมาตรฐานนี้ต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เกี่ยวข้อง
การคำนวณแฟกเตอร์น้ำหนักในมาตรฐานใหม่นี้จะยังคงใช้ตามมาตรฐานเดิม ซึ่งจะสอดคล้องกับแฟกเตอร์น้ำหนักในกฎกระทรวงฉบับใหม่ของกรม
โยธาธิการและผังเมือง ที่จะออกบังคับใช้เร็วๆ นี้ ส่วนแฟกเตอร์ลดกำลังซึ่งเดิมแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีที่การก่อสร้างมีการควบคุมงานเป็นอย่างดี
และมีการควบคุมคุณภาพของวัสดุ และกรณีที่ไม่มีการควบคุมงานและคุณภาพของวัสดุ ซึ่งในมาตรฐานฉบับปรับปรุงใหม่นี้จะให้มีกรณีเดียว เนื่องจากงานก่อสร้างในปัจจุบันเกือบทุกงานมีการควบคุมงานและคุณภาพของวัสดุทั้งคอนกรีตและเหล็กเสริมมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
สำหรับการใช้งานพุก นับจากมีการเผยแพร่มาตรฐาน วสท.011008-21 นี้ เมื่อมีการเลือกใช้หรือออกแบบเพื่อใช้งานวัสดุฝังยึดในคอนกรีต วิศวกรและผู้เกี่ยวข้องควรอ้างอิงข้อกำหนด วิธีการต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงในเนื้อหา บทที่ 21 เรื่องการฝังยึดในคอนกรีต เป็นสำคัญ ซึ่งรายละเอียดภายในบทครอบคลุมวิธีการออกแบบ การอ้างอิงตัวแปรที่จำเป็นต้องใช้ประกอบในแต่ละขั้นตอนไว้ทั้งหมด เพื่อให้การทำงานประเภทนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งยังให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
การปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้ได้เกิดจากความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการคำนวณออกแบบ และทำงานในเรื่องดังกล่าว ได้เสียสละเวลาและนำประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญต่างๆ มาช่วยกันจัดทำจนมาตรฐานแล้วเสร็จ